เพราะเหตุใดในเช็คเราจึงจะต้องขีดฆ่าช่องผู้ถือออก เเละการขีดฆ่ากับไม่ขีดฆ่าช่องผู้ถือมีผลต่างกันอย่างไร

 คำถามที่ 1 เพราะเหตุใดในเช็คเราจึงจะต้องขีดฆ่าช่องผู้ถือออก

คำตอบ เพราะกรณีที่ “ต้องการให้เช็คเป็นเช็คระบุชื่อ” หากไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในแบบฟอร์มเช็คออก เช็คนั้นจะกลายเป็น “เช็คผู้ถือ” ที่สามารถโอนได้โดยเพียงการส่งมอบ (หนังสือกฎหมายแพ่งพิสดาร เล่ม 3 หน้า 113)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2560จำเลยที่ 1 มอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับเงิน แต่มีข้อความตามแบบพิมพ์ว่า จ่าย… หรือผู้ถือ ถือได้ว่าเป็นเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือจึงเป็นเช็คที่มีรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (4) เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่ อ. นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเขียนชื่อโจทก์หลังคำว่าจ่าย ไม่ทำให้เช็คพิพาทเสียไป โจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาทไว้ในครอบครองย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3764/2554 เช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้สั่งจ่ายไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ”ออก จึงเป็นเช็คผู้ถือ ซึ่งสามารถโอนกันได้โดยเพียงการส่งมอบเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับมาและนำมาสลักหลังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900

คำถามที่ 2 การขีดฆ่ากับไม่ขีดฆ่าช่องผู้ถือออกมีผลต่างกันอย่างไร

2.1 ผลของการขีดฆ่าช่อง “หรือผู้ถือ” ออก

2.1.1 กรณีที่ขีดฆ่าช่อง “หรือผู้ถือ” ออก และเขียนชื่อผู้รับเงิน กรณีนี้เช็คจะเป็นเช็คระบุชื่อ

2.1.2 กรณีที่ขีดฆ่าช่อง “หรือผู้ถือ” ออก แต่ไม่ระบุรายการชื่อ/ยี่ห้อผู้รับเงิน หรือเขียนว่า “จ่ายเงินสด” “จ่ายสด”

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) เช็คต้องมีรายการชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ประกอบกับมาตรา 910 วรรคหนึ่ง วางหลักให้ตั๋วแลกเงินที่มีรายการขาดตกบกพร่อง ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน ในกรณีนี้เป็นการขาดตกบกพร่องในเรื่อง”ไม่มีชื่อ/ยี่ห้อผู้รับเงิน” ตามมาตรา 988 (4) ทั้งกรณีที่ระบุว่า“จ่ายเงินสด” หรือ “จ่ายสด” นั้น เป็นข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 21 ซึ่งถ้าเขียนข้อความลงในเช็คว่า“จ่ายเงินสด” “จ่ายสด”  ก็หาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นไม่ ตามมาตรา 899 อีกทั้งกรณีดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 910 วรรคสองถึงวรรคห้า ดังนั้น เมื่อตั๋วเงินไม่มีรายการชื่อผู้รับเงินและไม่ปรากฏว่าเป็นเช็คผู้ถือตามมาตรา 988 (4)  เช็คนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548 เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก แล้วเขียนคำว่า “สด” ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า “จ่าย” ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2523 จำเลยใช้แบบพิมพ์เช็คของธนาคารสั่งจ่ายเงินสดในช่องที่ให้กรอกชื่อผู้รับเงิน และได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก เช่นนี้ ตราสารดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 988  อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(3) ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักงานของธนาคาร
(4) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(5) สถานที่ใช้เงิน
(6) วันและสถานที่ออกเช็ค
(7) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

มาตรา 910  ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็น ตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน
ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

2.2 ผลของการไม่ขีดฆ่าช่อง “หรือผู้ถือ” ออก และเขียนชื่อผู้รับเงินด้วย หรือกรณีที่ไม่เขียนชื่อผู้รับเงินเลย หรือเขียนว่า “จ่ายเงินสด” หรือ “จ่ายสด”  และไม่ได้ขีดคำว่าผู้ถือออก ทั้งสามกรณีนี้ เช็คนั้นก็จะเป็นเช็คผู้ถือทั้ง 3 กรณี เพราะแบบพิมพ์มีอยู่แล้วว่า “หรือผู้ถือ” หรือว่าจะจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งระบุชื่อก็ได้ เช่น จ่ายให้แก่นาย ก. และไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือในแบบพิมพ์ของตั๋วเงินนั้นก็เป็นตั๋วผู้ถือ (คำบรรยายเนติบัณฑิต  ภาค 1/71 การบรรยายครั้งที่ 2 ,หน้า 151 ,อ.ประทีป เฉลิมภัทรกุล)

Write a comment