การบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งกรณีฟ้องขับไล่

การบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งกรณีฟ้องขับไล่

อ.เป้ สิททิกรณ์

ในการฟ้องคดีขับไล่ทนายความมักจะบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งว่า “ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่………….เลขที่ดิน……..ตำบล……อำเภอ……..จังหวัด……..เนื้อที่……….โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกดำเนินการแทนโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย”

มีประเด็นที่น่าสนใจว่าการบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งในลักษณะดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ???

โดยหลักแล้วการฟ้องบังคับให้จำเลยกระทำการ เจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการดังกล่าวแทนลูกหนี้โดยให้ลูกหนี้ออกค่าใช้จ่ายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง

มาตรา 213 ถ้า ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาล ให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอน การที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอา ค่าเสียหายไม่

โดยสภาพแล้ว การฟ้องขับไล่โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นคำขอให้กระทำการอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กรณีฟ้องขับไล่ หากศาลพิพากษาให้ขับไล่หรือให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้วลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมปฏิบัติตาม?ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้กำหนดขั้นตอนการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะแล้วโดยกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการเพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท

มาตรา 296ทวิ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไปหรือ ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครอง ถ้าลูกหนี้ ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว

เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในห้ามาตราต่อไปนี้

ดังนี้จึงมีประเด็นที่น่าพิจารณาว่า การบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งว่า “ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่………….เลขที่ดิน……..ตำบล……อำเภอ……..จังหวัด……..เนื้อที่……….โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกดำเนินการแทนโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ในประเด็นนี้ ศาลฎีกาตัดสินว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิได้กำหนดขั้นตอนของการบังคับคดีกรณีฟ้องขับไล่ไว้โดยเฉพาะแล้วจึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติมาใช้บังคับไม่ได้

ฎ.2071/2552 ป.วิ.พ. มาตรา 296 ทวิ กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับในกรณีที่ถูกพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไปหรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหากจำเลยไม่รื้อถอนต้นไม้ที่นำเข้าไปปลูก ให้โจทก์ดำเนินการแทน จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ฎ.3486/2542 โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาตามคำขอของโจทก์ที่ว่า ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการรื้อถอนให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามป.วิ.พ.มาตรา 296 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาจึงนำ ป.พ.พ.มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่มิใช่บทบัญญัติในการบังคับคดี มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งกรณีฟ้องขับไล่ว่า “หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกดำเนินการแทนโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย” จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ

ดังนั้น การบรรยายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งกรณีฟ้องขับไล่ที่ถูกต้องจึงควรบรรยายแต่เพียงว่า “ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่………….เลขที่ดิน……..ตำบล……อำเภอ……..จังหวัด……..เนื้อที่……….โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย” เท่านั้น

********************************

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วปี 1/55

ข้อเท็จจริง

นายโท กุมภา มาหาท่านนายชอบ ยุติธรรม ทนายความ โดยเล่าให้ฟังว่า เมื่อปลายปี พ.ศ.2553 นายโท กุมภา ได้ทำสัญญากู้เงินนายเอก มกรา จำนวน 2,000,000 บาท โดยตกลงว่า นายโท กุมภา จะชำระดอกเบี้ยให้นายเอก มกรา ทุกวันสิ้นเดือน สัญญากู้ฉบับนี้ ไม่มีกำหนดชำระหนี้ แต่ในการกู้ครั้งนี้ นายโท กุมภาได้นำโฉนดบ้านและที่ดินเลขที่… ซึ่งมีราคาตามท้องตลาด 7,000,000 บาท ให้ไว้แก่นายเอก มกรา เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ พร้อมทั้งเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินดังกล่าว ให้ไว้แก่นายเอก มกรา ให้นายเอก มกราสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินได้ในทันทีที่นายโท กุมภาไม่ชำระหนี้

วันที่ 30 พ.ย. 2554 นายโท กุมภา ได้นำดอกเบี้ยมาชำระ นายเอก มกราจึงแจ้งแก่นายโท กุมภาว่า ต้องการให้นายโท กุมภา ชำระเงินต้นคืนในวันที่ 15 ธ.ค. 54 แต่นายโท กุมภา ไม่มีเงินชำระ จึงขอโฉนดบ้านและที่ดินคืนจากนายเอก มกรา เพื่อนำไปขายเอาเงินมาชำระหนี้ แต่นายเอก มกราไม่ยินยอม อีกทั้งยังตั้งนายหนึ่ง มกรา ไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินเป็นของนายเอก มกรา

ต่อมา นายโท กุมภาได้รับสำเนาคำฟ้องขับไล่ ให้นายโท กุมภาออกจากบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 54 นายโท กุมภา ได้จอดรถจักรยานยนต์ไว้ แต่รถคันดังกล่าวได้หายไป นายโท กุมภา จึงไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ต่อมาปรากฏว่า พบรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ที่บ้านของนายสาม มีนา แต่นายสาม มีนาไม่ยอมให้การต่อสู้ใดๆเลย จะขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น

วันที่ 21 ม.ค. 55 นายโท กุมภา ได้ตั้งท่านเป็นทนายความยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง พร้อมทั้งฟ้องอาญา เพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมาย โดยหลังจากนั้นไม่นาน นายเอก มกราก็ถึงแก่ความตาย

คำสั่ง

– คำให้การและฟ้องแย้ง

– ฟ้องอาญา

– บัญชีพยาน

– คำแถลงขอปิดหมาย

– คำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ

แนวคำตอบข้อคำให้การและฟ้องแย้ง

ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ท่านว่าเป็นโมฆะ

ฎ.351/2522 กู้เงินมีข้อสัญญาว่า ถ้าไม่ใช้เงินคืนตามกำหนดยอมโอนที่ดินตามโฉนดชำระหนี้ให้โดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดิน ฝ่าฝืน มาตรา656 วรรค 2,3 บังคับให้โอนที่ดินชำระหนี้ไม่ได้

แนวคำตอบข้อคำฟ้องอาญา

ฎ.904/2511 ในฟ้องข้อ 1 โจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ลักทรัพย์ของกลาง โจทก์บรรยายไว้แต่เพียงว่ามีคนร้ายลักเอาไปแล้วจึงบรรยายต่อไปในข้อ 2 ว่า ทั้งนี้โดยจำเลยเป็นผู้ลักหรือมิฉะนั้นก็รับของโจรไว้ ซึ่งมิได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐาน จึงไม่ขัดกัน ฟ้องของโจทก์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว

ฎ.212/2504 โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่า จำเลยลักทรัพย์ ในตอนต่อมาบรรยายว่าจับทรัพย์ได้ที่จำเลย จำเลยจึงลักทรัพย์หรือรับของโจร ทรัพย์รายเดียวกันดังนี้ เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2504)

************************

อ่านต่อ

ตั๋วรุ่น และ ตั๋วปี แตกต่างกันอย่างไร

ตั๋วรุ่น และ ตั๋วปี แตกต่างกันอย่างไร

1. ตั๋วรุ่นมีการสอบข้อเขียน 2 ภาค คือ ภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติ ส่วนตั๋วปีจะมีการสอบข้อเขียนเพียงครั้งเดียว

2. การสอบตั๋วรุ่น ภาคทฤษฎีจะให้เขียนในสมุดคำตอบ ส่วนภาคปฏิบัติกับตั๋วปีจะให้เขียนในแบบพิมพ์ศาลให้ถูกต้อง

3. ตั๋วรุ่นสามารถสมัครเข้ารับการรับอบรมภาคทฤษฎีตามวันที่ประกาศ ส่วนตั๋วปีจะต้องแจ้งการฝึกต่อสภาทนายความเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ต้องรอประกาศ แต่ต้องรอให้ครบ 1 ปีจึงจะมีสิทธิลงทะเบียนสอบข้อเขียน

4. ตั๋วรุ่น ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ คะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็นอัตนัย 80 คะแนน ปรนัย 20 คะแนน สอบได้ 50 คะแนนขึ้นไปถือว่าสอบผ่าน
ส่วนตั๋วปีมีคะแนนสอบ 100 คะแนน แบ่งเป็นอัตนัย 70 คะแนน ปรนัย 30 สอบได้ตั้งแต่ 50 คะแนนขึ้นไปถือว่าสอบผ่าน ไม่มีคะแนนการฝึกงาน

5. ตั๋วรุ่นมีหนังสือรวมข้อสอบเก่าพร้อมธงคำตอบทั้ง ภาคทฤษฎี (เล่มสีน้ำเงิน) และ ภาคปฏิบัติ (เล่มสีแดง) ทำให้รู้แนวข้อสอบ แต่ตั๋วปีไม่มีหนังสือรวมข้อสอบเก่าจำหน่ายครับ

6. ตั๋วรุ่นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สถิตินักเรียนสอบผ่านสูงกว่าตั๋วปีมาก

*******************

อ่านต่อ

เทคนิคการสอบทนายความ

สุดยอด ! ?เกียรติคุณ เหล่าชัย? ม.ขอนแก่น นักเรียนของ ?สมาร์ทลอว์ติวเตอร์? คอร์สติวสอบทนายความ ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สอบได้ที่ 1 ของภาคปฏิบัติ รุ่น 37 (76คะแนน) ได้รับ The New iPad เป็นของรางวัลจาก อ.เป้ อ.ตูน ผมภูมิใจมากๆครับที่นักเรียนของเราทำสำเร็จ มาร่วมแสดงความยินดีด้วยการคลิ้ก Like + Share เยอะๆเลยนะครับ (^.^)

คุณฟ้ารำไพ ทองพันชั่ง ม.ธรรมศาสตร์ สอบภาคปฏิบัติ รุ่น 37 ได้ 78 คะแนน ได้รับรางวัลจากอ.เป้และอ.ตูนเป็น The New iPad เธอได้ให้คำแนะนำและเทคนิคการสอบใบอนุญาตทนายความรวมทั้งให้กำลังใจคนทำงานที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยไว้ในคลิปวิดิโอนี้ ลองเปิดฟังดูนะครับ

*******************************

อ่านต่อ

ขั้นตอนการสมัครสอบตั๋วปี

ขั้นตอนการสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ กรณีผู้ฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี (ตั๋วปี) ซึ่งจะเปิดสอบปีละ 2 ครั้ง?

1.จบป.ตรีหรืออนุป.ตรี คณะ/สาขานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่สภาทนายความรับรอง

2.ขอใบแจ้งการฝึกงานจากสภาทนายความ(มาขอเอง/ให้คนอื่นมาขอแทนก็ได้)

3.นำใบแจ้งการฝึกงานไปให้ทนายความซึ่งมีใบอนุญาตฯมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี เซ็นรับรองการฝึกงาน

4.นำใบแจ้งการฝึกงานที่ทนายความเซ็นแล้วมายื่นที่สภาทนายความ (มายื่นเอง/มอบอำนาจให้คนอื่นมายื่นแทน/ส่งไปรษณีย์ก็ได้)

5.รอเวลาครบ 1 ปี

6.เมื่อครบกำหนดฝึกงาน 1 ปีแล้วจึงจะสิทธิมีลงทะเบียนสอบได้ (มายื่นเอง/มอบอำนาจให้คนอื่นมายื่นแทน/ส่งไปรษณีย์ก็ได้)

7.ถ้าสอบไม่ผ่าน มีสิทธิลงทะเบียนสอบครั้งต่อไป (ไม่ต้องรักษาสถานภาพ) ถ้าสอบผ่านต้องไปสอบปากเปล่า,อบรมจริยธรรม,รับใบประกาศนียบัตร,สมัครสามัญ/วิสามัญสมาชิกกับเนติฯ และยื่นคำขอจดใบอนุญาตฯกับสภาทนายความ ตามลำดับ

************************

ที่มา : เพจอาจารย์เป้ http://www.facebook.com/AjarnPae และ www.ตั๋วทนาย.com

อ่านต่อ