การค้นหาเป้าหมายชีวิตของอ.เป้ ตอนที่ 2

ตอนที่ 2 กล้าที่จะ “เสี่ยง” และกล้าที่จะ “เปลี่ยน”

ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยให้คุณค้นหาเป้าหมายชีวิตได้ดีที่สุดคือ “ประสบการณ์” ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ของที่คุณพบเห็นมาด้วยตนเองเอง หรือเป็นประสบการณ์ของคนอื่นที่มาเล่าให้คุณฟังอีกทอดหนึ่งก็ได้ครับ

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีคุณพ่อเป็นผู้พิพากษา คุณย่อมรู้ดีว่าการเป็นผู้พิพากษามีข้อดีอย่างไร และมีข้อเสียอย่างไร และคุณจะรู้ได้เองว่าอยากเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ ถ้าใช่ก็ตั้งใจเรียนนิติศาสตร์ต่อไป ถ้าไม่ใช่คุณก็ต้องไปเรียนสายอื่น (ถ้าคุณพ่อของคุณยอมนะ อิอิ)

ในประสบการณ์จากครอบครัวของผม

ก่อนผมเกิดแม่เคยเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หลังคลอดผมแม่มาทำรับจ้างซักรีดเลี้ยงดูผมจนเรียนจบ

ส่วนพ่อ ก่อนผมเกิดพ่อมีอาชีพเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเช่นกัน หลังผมเกิดพ่อเป็นช่างรับจ้างทั่วไป รับเหมาก่อสร้าง ช่วงสุดท้ายก่อนพ่อเสียชีวิต พ่อมาช่วยแม่ทำรับจ้างซักรีด

อาชีพของพ่อและแม่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มียศตำแหน่ง ไม่มีประกันสังคม ไม่มีสวัสดิการใดๆ
ทั้งพ่อและแม่อยากให้ผมมีอาชีพที่ดีกว่าที่ท่านทำ พ่อเคยบอกว่าอยากให้ทำงาน “นั่งโต๊ะ” เสียดายที่พ่อไม่ได้อยู่ดูผมในวันนี้

จะเห็นได้ว่า ในครอบครัวของผมไม่มีใครประกอบอาชีพทางด้านกฎหมายเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ตำรวจ หรือทนายความ

แล้วผมมาเรียน “นิติศาสตร์” ได้อย่างไรล่ะ

ตอนที่ 1 ผมเล่าค้างไว้ว่า ผมสอบเข้ามรภ.พระนคร สาขาการโรงแรม เรียนไปได้ 1 เทอมรู้สึกว่าทางนี้ “ไม่ใช่และไม่ชอบ” จึงต้องคิดหาทางออกว่าจะทำอะไรกับชีวิตต่อไป

ผมโชคดีที่มี “กู๋ชา” น้าชายของผมซึ่งเป็นข้าราชการจบป.โท จุฬาฯ และป.โท ประเทศเนเธอร์เลนด์ โดยเป็นวิศวกรทางด้านน้ำ ได้ให้คำแนะนำกับผมว่าให้ผมมาเรียน “นิติศาสตร์ม.รามคำแหง ” (คำแนะนำช่างไม่เกี่ยวกับงานของกู๋ชาเลยสักนิด 555)

กู๋ชาให้เหตุผลว่า นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เข้าง่าย สมัครได้เลย ไม่ต้องสอบ (อันนี้จริง) พอจบมาแล้วหางานง่ายทำได้ทั้งราชการและเอกชน (อันนี้จริงรึป่าว ชักไม่แน่ใจ) “แต่จบยากหน่อยนะ”

อืม พอผมได้ยินคำว่า “จบยากหน่อยนะ” เสียงจาก “ความคิด” ของผมแบ่งเป็น 2 ด้าน

ด้านแรกเป็น “ด้านฝ่อ” บอกว่า เฮ้ย !!! แล้วเอ็งจะเรียนไหวเหรอ จะท่องจำได้เหรอ ปกติไม่ชอบท่องจำนี่นา ไอคิวก็ไม่ดี อ่านหนังสือก็ช้า จำก็ไม่แม่น ข้อสอบเป็นข้อเขียนด้วย จะให้เขียนอะไรล่ะ จะเรียนกี่ปีอ่ะ แปดปีจะจบมั้ย ถ้าเรียนไม่จบล่ะ บลาๆๆๆๆ -*-

ด้านที่สองเป็นเสียงจาก “ด้านเฟี้ยว” บอกว่า เอาน่า !!! ลองเรียนดูก่อนเถอะ เอ็งไม่มีอะไรให้เสียไปกว่านี้แล้ว เงินก็ไม่มี นามสกุลก็ไม่ดัง หน้าตาก็บ้านๆ เค้าบอกว่ามันยากถ้าเอ็งจบได้นี่เฟี้ยวมากเลยนะ แถมหางานง่ายด้วย (เพิ่งมารู้ตอนเรียนจบว่า ไม่จริง 555)

เอาล่ะ ถึงเวลาที่ผมต้องตัดสินใจ ผมเลือกที่จะเชื่อเสียงจาก “ด้านเฟี้ยว” เพราะผมคิดว่าว่า ต้นทุนของผมคือศูนย์ หากเรียนนิติศาสตร์ ม.รามคำแหงไม่จบ หรือจบช้าเกิน 4 ปี ถือว่าเป็นไปตามที่คนอื่นคาดไว้ แต่ถ้าผมวามารถเรียนจบได้ก่อนหรือภายใน 4 ปีถือว่า “เฟี้ยวมาก” พลิกความคาดหมายอย่างแรงเลยทีเดียว ยืดได้เต็มที่เลยคราวนี้

ผมจึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ในภาค 2 ปี 2544

เมื่อเข้าสู่รั้วม.รามคำแหงแล้ว ชีวิตผมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ต้องลำบากมากขึ้น อดทนมากขึ้น ขยันมากขึ้น มีความอดทนมากขึ้น

ผมต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเรียนนิติศาสตร์ให้ได้ จากไม่ชอบไปเรียนก็ต้องไป จากไม่ชอบอ่านหนังสือก็ต้องอ่าน จากไม่ชอบท่องจำก็ต้องท่อง จากไม่ชอบเขียนก็ต้องฝึกเขียน บังคับตัวเองให้ทำทุกอย่างเพื่อให้สอบผ่าน

ด้วยความที่ผมเป็นคนไม่ฉลาดและชอบทำอะไรด้วยความคิดตัวเอง ทำให้ผมจะปรับตัวได้ช้า ช่วงแรกๆสอบได้แค่ P (ผ่าน) มารู้เทคนิคเก็บ G (Good) ในช่วงท้ายๆ โดยเฉพาะวิชายากๆ ทำให้เกรดเฉลี่ยไม่ถึงสาม แต่ผมก็สามารถจบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหงได้ภายในเวลา 3 ปี และนำเทคนิคนั้นมาใช้กับการสอบเนติบัณฑิตไทยทำให้ผมเป็นเนติบัณฑิตไทยได้ภายใน 1 ปี

เมื่อผมสามารถเรียนจบนิติศาสตร์และสอบผ่านเป็นเนติบัณฑิตไทยได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เสียงจากคนเริ่มข้างเริ่มเปลี่ยนเป็นคำชื่นชม ให้ความเชื่อถือ และรับฟังผมแนวคิดของผมมากขึ้น

ผมทำอย่างไรล่ะ ผมถึงเปลี่ยนจาก “คนไม่มีอนาคต” กลายเป็นคนที่สามารถเรียนจบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ภายในเวลา 3 ปี และจบเนติฯ ภายใน 1 ปี

ประการแรกคือ เมื่อเรียนนิติศาสต์แล้วผมรู้สึกว่า “ชอบและใช่” แม้จะต้องอ่านมาก ท่องมาก แต่ทุกอย่างที่อ่านที่ท่องล้วนเป็นประโยชน์และสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ทั้งสิ้น ต่างจากเนื้อหาที่เรียนตอนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ให้ผมเรียนเยอะจนจับต้นชนปลายไม่ถูกและนำมาปรับใช้กับชีวิตจริงไม่ถูกจึงไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร

ประการที่สอง ผมต้องการลบคำสบประมาทคำดูถูกที่คนอื่นคิดว่าผมเรียนเรียนแปดปีไม่จบแน่ ผมจึงตั้ง “เป้าหมาย” ว่าจะเรียนป.ตรีนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ให้จบภายใน 3 ปี และสอบเนติบัณฑิตไทยให้ได้ภายใน 1 ปี (สำหรับผมแล้ว คำดูถูกคือแรงผลักดันที่มีพลังยิ่งใหญ่มากๆครับ ในชีวิตผมโดนคำดูถูกมากมาย และผมจะพยามอย่างสุดชีวิตเพื่อเอาชนะคนที่ดูถูกผม)

ประการที่สาม ผมมีการคิดวางแผนที่ดีว่าจะทำอย่างไรให้จบป.ตรี นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ภายใน 3 ปี และจบเนติบัณฑิตไทย ภายใน 1 ปี ผมจะต้องลงทะเบียนกี่หน่วย กี่วิชา จะเรียนอย่างไรให้ครบทุก Sec จะอ่านหนังสือวันละกี่ชั่วโมง จะเรียนสัปดาห์ละกี่วัน จะฝึกทำข้อสอบเก่ากี่สมัย จะท่องตัวบทวันละกี่มาตรา จะพักผ่อนสัปดาห์ละกี่วัน วันพักผ่อนจะทำกิจกรรมอะไร เป็นต้น (รายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการเรียนผมขออนุญาตเขียนในบทความอื่นนะครับ)

สรุปก็คือ เมื่อผมรู้ว่าชอบนิติศาสตร์ ผมจึงเรียนรู้ที่จะตั้งเป้าหมาย วางแผน และทำตามแผน สุดท้ายเป้าหมายของผมก็สำเร็จตามแผนที่ผมคิดไว้

ผมลองคิดย้อนกลับไปว่า ถ้าวันที่ผมรู้ตัวแล้วว่า ผมไม่ชอบเรียนสาขาการโรงแรม แต่ผมยังคงฝืนเรียนต่อไปจนจบ ไม่กล้าที่จะเสี่ยง ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วสิ่งที่ทำอยู่ “ไม่ชอบ” และ “ไม่ใช่” ชีวิตผมจะเป็นอย่างไร

ผมอาจจะมีชีวิตที่ดีในสายงานของการโรงแรมก็ได้ เช่น ผมอาจจะได้เป็นผู้จัดการโรงแรมใหญ่ๆสักแห่ง เงินเดือน 80,000-100,000บ. มีสวัสดิการดีๆ เก็บเงินโบนัสและโอทีมาลงทุนโดยมีความฝันว่าจะได้เป็นเจ้าของโรงแรมและสร้างสาขาไปทั่วประเทศ

หรือชีวิตผมอาจจะเป็นพนักงานโรงแรมธรรมดาๆคนหนึ่ง คอยเปิดปิดประตู ปูเตียง ชงชา เสิร์ฟกาแฟและอาหารเช้า เงินเดือนพอกินพอใช้ มีประกันสังคม และแม่ผมยังต้องรับจ้างซักรีดต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้

ดังนั้น ถ้าผม “ไม่กล้าที่จะเสี่ยง” และ “ไม่กล้าที่จะเปลี่ยน” ชีวิตผมจะเป็นแบบไหนคงไม่มีใครตอบได้ แต่ที่ผมสามารถตอบได้แน่ๆคือ ชีวิตของผมมีความสุขอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ได้เพราะผม “กล้าที่จะเสี่ยง” และ “กล้าที่จะเปลี่ยน” จากสิ่งที่ไม่ใช่และสิ่งที่ไม่ชอบมาเป็นสิ่งที่ใช่และสิ่งที่ชอบ

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลำพังแค่ฟังคำแนะนำของคนอื่นยังไม่พอหรอกครับ คุณต้อง “ลงมือทำ” ด้วยคุณถึงจะรู้ว่าสิ่งนั้นใช่หรือไม่ใช่ ชอบหรือไม่ชอบ

ตัวอย่างเช่น คุณมีเพื่อนคนหนึ่งเคยไปเที่ยวอลาสก้า เค้าเล่าให้คุณฟังว่า “อลาสก้าหนาวมาก” พร้อมเอารูปถ่ายให้คุณดู แม้คุณจะเชื่อเพื่อนว่าอลาสก้าหนาวมาก” เพราะใครๆก็รู้ว่าอลาสก้าหนาวมาก แต่ตราบใดที่คุณยังไม่เคยไปอลาสก้าคุณจะยังไม่รู้ซึ้งจริงๆหรอกว่ามันหนาวขนาดไหน ดังนั้น สิ่งที่คนอื่นแนะนำจะยังไม่เห็นผล หากคุณยังไม่ลงมือทำ

ถ้าคุณกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะเปลี่ยน และลงมือทำ เดี๋ยวคุณจะได้รู้แน่ว่า “อลาสก้าหนาวมาก” มันหนาวขนาดไหน ขอให้รู้ไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ คำว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” เป็นเรื่องจริง

คำถามที่น่าคิดมากๆก็คือ ถ้าผมเปลี่ยนมาเรียนนิติศาสตร์ เวลาผ่านไปอีก 1 เทอมแล้วรู้ว่า “ไม่ใช่และไม่ชอบ” ผมจะทำอย่างไร จะฝืนเรียนนิติศาสตร์ต่อไปหรือไม่ หรือผมจะยอมเสียเวลาที่จะเสี่ยงและเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง

ผมขอยืนยันว่าคำตอบเดิมคือ ผมเลือกที่จะเสี่ยงและเลือกที่จะเปลี่ยนแม้จะต้องเสียเวลาไปอีก 1 เทอม

ทำไมถึงต้องยอมเสียเวลาล่ะ เพื่อนจะเรียนจบก่อนเรานะ

ผมคิดว่า ใครจะเรียนจบก่อนไม่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ใครจะประสบความสำเร็จ” ต่างหาก ที่กล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ไปเปรียบเทียบหรือแข่งขันกับเพื่อน แต่บทความนี้กำลังกล่าวถึง “การค้นหาเป้าหมายในชีวิตเพื่อประสบความสำเร็จ”

ผมมีความเชื่อว่า คนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป้าหมายนั้นต้องเกิดจากการทำในสิ่งที่ใช่และสิ่งที่ชอบเท่านั้น

ส่วน “คนที่ไร้เป้าหมาย” แม้จะเรียนจบเร็ว ได้งานเร็ว แต่เค้ายังอยู่ห่างไกลจากคำว่า ประสบความสำเร็จ เพราะเค้ายังไม่รู้ว่าอะไรคือเป้าหมายของชีวิต เค้ายังไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่และอะไรคือสิ่งที่ชอบ

คนที่ไร้เป้าหมายเปรียบดั่งเรือที่รู้หน้าที่ว่าต้องออกเดินทางแต่เค้าไม่รู้ว่าจะไปทางทิศไหนได้แต่ลอยไปตามกระแสน้ำ กระแสลม ถึงฝั่งที่ไหนที่นั่นคือเป้าหมาย รอดตายหวุดหวิด

แล้วถ้าเรือของคุณลอยไปไม่ถึงฝั่งซะทีล่ะครับ ถ้าเสบียงกำลังจะหมดล่ะครับ จะอดตายอยู่กลางทะเลมั้ย หรือถ้าเจอพายุลูกใหญ่ล่ะครับ เรือของคุณจะรับมือไหวมั้ย สู้กลับมานั่งคิดหาทิศทางที่ชัดเจนแน่นอนให้กับชีวิตดีกว่ามั้ยครับ

การค้นหาเป้าหมายของชีวิตนั้น คุณอาจต้องใช้เวลาหลายวัน หลายเดือน หลายปี ขึ้นอยู่กับว่าคุณจริงจังกับการค้นหาแค่ไหน แต่อย่าลืมนะครับคุณยังต้องใช้ชีวิตไปอีกหลายสิบปีนะครับ คนไทยมีอายุเฉลี่ย 70 ปี คุณจะอดทนทำในสิ่งที่ไม่ใช่เป้าหมายหรือใช้ชีวิตโดยไม่รู้เป้าหมายไปจนถึงอายุ 70 ปีหรือครับ

เอาล่ะครับ เมื่อคุณอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ผมขอให้คุณตั้งสติให้ดี คิดให้ดีว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ หรือไม่

ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ชอบและใช่ ขอให้คุณวางแผนให้ดี ทำตามแผนที่วางไว้ แบบ “สุดกำลัง” เชื่อว่าวันหนึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้จะประสบความสำเร็จได้แน่นอนครับ (อย่าคิดว่าจะไม่สำเร็จนะครับ เดี๋ยวมันจะไม่สำเร็จตามที่คุณคิด อิอิ)

แต่ถ้าคุณรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่และไม่ชอบ คุณลองถามตัวเองดูว่า คุณกล้าที่จะเสี่ยงและกล้าที่จะเปลี่ยนหรือไม่

ถ้าคุณตอบว่า “ไม่กล้า” ผมขอยืนไว้อาลัยเพื่อแสดงความเคารพต่อการตัดสินใจของคุณเป็น 1 วินาที ผมขอย้ำอีกครั้งว่า “ผมเคารพในการตัดสินใจของคุณ” ผมขอให้คุณเตรียมตัวเตรียมใจที่จะต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบและไม่ใช่ไปตลอดชีวิต อย่าลืมนะครับ อายุเฉลี่ย 70 ปี ถ้าปัจจุบันคุณอายุ 30 ปีเท่ากับผม คุุณอาจจะต้องอดทนทำสิ่งนั้นไปอีก 40 ปีเลยทีเดียว

ลองนึกภาพว่า ถ้าคุณเกลียดงูและจะต้องอดทนเลี้ยงงูไปตลอดชีวิต คุณจะอดทนไหวมั้ย ทำใจได้มั้ย ถ้ารับได้ หรือคิดว่าอยู่ๆไปเดี๋ยวก็รักงูเอง อันนี้ก็แล้วแต่คุณนะครับ ยังไงผมก็ยังยอมรับในการตัดสินใจของคุณเสมอครับ

ถ้าคุณบอก “กล้าโว้ย” ผมขอให้คุณเริ่มคิดและค้นหาสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ “เดี๋ยวนี้” เลยครับ เมื่อค้นพบแล้ว ให้คุณคิดวางแผน และลงมือทำตามแผนที่คุณคิดไว้อย่างเคร่งครัด กำหนดวันเดือนปีที่แน่นอนว่าแผนจะสำเร็จเมื่อไหร่

ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะไปทางไหนให้ถามคนที่เค้าทำและตามไปดูเค้าทำงานครับ เช่น คุณรู้ว่าไม่อยากเรียนนิติศาสตร์แล้ว แต่ลองอยากเปลี่ยนไปเป็นทำธุรกิจให้คุณไปหาคนรู้จักที่เป็นนักธุรกิจและถามเค้าเยอะๆว่าชีวิตเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร มีความสุขมั้ย และขอเค้าไปเที่ยวที่ทำงาน พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของการเป็นนักธุรกิจ เดี๋ยวคุณจะเริ่มรู้เองว่าใช่หรือไม่ใช่ ชอบหรือไม่ชอบ

แต่ถ้าคุณไม่มีคนรู้จักเป็นนักธุรกิจเลย ผมแนะนำให้ซื้อหนังสือเกี่ยวกับคนที่ทำธุรกิจและประสบความสำเร็จแล้วมาอ่าน หรือหาหนังมาดู หรือค้น Google ก็ได้ หรือดูวิดิโอใน Youtube ก็ได้ หรือจะไปคลิ้ก Like ที่เพจของคนที่คุณชอบก็ได้ (อย่าลืมคลิ้ก Like ให้เพจ “อาจารย์เป้” ด้วยนะค้าบ หุหุ)

แต่ถ้าคุณกำลัง “งงอยู่” คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ชอบหรือไม่ สิ่งที่ทำอยู่ใช่หรือไม่ ออกแนวเฉยๆ เรื่อยๆ ให้ทำต่อไปคุณก็ทำได้นะ แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนขอคิดดูก่อนนะ คิดแล้ว คิดอีก สุดท้ายแล้วไม่เปลี่ยนดีกว่าเพราะ “กลัว” กลัวเสียเวลา กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวจะแย่กว่าเดิม ขออยู่แบบเดิม ทำแบบเดิมไปเรื่อยๆดีกว่า เซฟๆ ชิวๆ

ถ้าเป็นแนวเฉยๆ ไม่กล้าเสี่ยงและไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ผมก็ยังเคารพในการตัดสินใจของคุณอยู่ครับ แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าผมเฉยๆกับสิ่งที่ทำอยู่ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่ใช่และไม่ชอบครับ

ทำไมสิ่งที่รู้สึกเฉยๆจึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่และไม่ใช่ชอบล่ะ

เพราะสิ่งที่ผมรู้สึก “เฉยๆ” ทำให้ผมประสบความสำเร็จไม่ได้ครับ คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะเป้าหมายที่ชัดเจนและเป้าหมายต้องเป็นสิ่งที่ชอบและใช่มาแต่แรกครับ

มาถึงคนที่น่าเห็นใจที่สุด 2 ประเภท (ใช่คุณรึป่าวนะ)

1.คนที่รู้แล้วว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่และไม่ชอบ และอยากที่จะเสี่ยงและอยากที่จะเปลี่ยน แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทางไหน จะมีเทคนิคอย่างไร

2.คนที่รู้แล้วว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่และไม่ชอบ แต่พ่อแม่บังคับหรือกดดันให้เรียนหรือให้ทำสิ่งนั้นต่อไป ไม่รู้จะอธิบายกับพ่อแม่อย่างไร

คนที่น่าเห็นใจทั้งสองประเภทนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และนิติศาสตร์เป็นเส้นทางที่ผมคิดว่าใช่ที่สุดหรือชอบที่สุดแล้วหรือไม่ โปรดติดตามอ่านตอนที่ 3 ครับ

ถ้าเห็นว่า บทความนี้มีประโยชน์ช่วยคลิ้ก Like หรือ Share หรือ Tag เพื่อให้เพื่อนของคุณได้อ่านด้วยนะครับ รวมทั้งคลิ้ก Like ที่เพจด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับ (^.^)

Write a comment