ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 40

ข้อเท็จจริง

นางสาวหนึ่ง มาพบทนายความ ขื่อ นายเจษฎา โดยนางสาวหนึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทเพียงคนเดียวของนางสุริยา ?นางสาวหนึ่งเอาคำฟ้องของนางสาวจันทราที่ตนถูกฟ้องให้ชำระเงินจำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งนางสุริยาเป็นผู้กู้ไว้ก่อนเสียชีวิต สัญญากู้ทำกันวันที่ 10 ธ.ค. 44 ครบกำหนดชำระวันที่ 10 ธ.ค. 45 สัญญากู้ทำกันไว้เป็นเงิน 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 ธ.ค.45 นางสุริยาตาย

วันที่ 20ส.ค.55 คนรับใช้ของนางจันทรา ชื่อสมร เป็นผู้เล่าให้กับ นางสาวหนึ่งฟังว่า วันที่ 20 ส.ค.55 นางจันทราได้ปลอมสัญญากู้โดยเติมเลข 1 และ , ไว้ด้านหน้าเลข 5

ก่อนเสียชีวิตนางสุริยา และ นางจันทรา ได้เปิดบัญชี เงินฝากร่วมกัน โดยตกลงกันว่า จะทำธุรกิจขายที่ดินร่วมกัน และตกลงว่า พอได้เงินมาจะนำมาเข้าบัญชี รวมกันไว้ โดยมีข้อตกลงว่า คนใดคนหนึ่งสามารถเบิกเงินได้ทั้งหมด นางสาวหนึ่งเล่าให้ฟังว่าก่อนที่นางสุริยาจะตาย มีเงินในบัญชีดังกล่าว 5,100,000 บาท

ต่อมาวันที่ 20 พ.ย. 55 นางสาวจันทราเบิกเงินไปจากบัญชี 5,000,000บาท ในงานศพของนาง สุริยา นางสาว หนึ่ง ได้ทวงถามให้นางจันทรา นำเงินครึ่งหนึ่งที่เบิกไปมาคืนตนซึ่งนางสุริยาก็รับปากว่าจะคืน แต่นางสุริยาก็เพิกเฉยตลอดมา?(วันฟ้อง 14 ธค 55)

 

คำสั่ง

1. คำให้การคดีแพ่ง 25 คะแนน

2. คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีอาญา 25 คะแนน

3. คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย 15 คะแนน

4. ใบแต่งทนายความ 5 คะแนน

5. คำร้องขอปิดหมายและส่งหมายข้ามเขต 5 คะแนน

6. คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง 5 คะแนน

แนวคำตอบ > ข้อต่อสู้ในคำให้การ

1. สัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะโจทก์แก้ไขเพิ่มเติมข้อความโดยเติหมายเลข 1 และ , ในสัญญากู้ยืมเงิน โดยไม่มีสิทธิ

2.โจทก์ส่งมอบเงินกู้ให้แก่มารดาจำเลยเพียง 500,000 บาท โจทก์มิได้ส่งมอบเงินกู้จำนวน 1,000,000 บาทให้แก่มารดาจำเลยหรือจำเลย หนี้เงินกู้จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงเป็นหนี้ที่ไม่บริบูรณ์

3.คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่านางสุริยาถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์รู้ว่านางสุริยาตายตั้งแต่ปี 45 เพราะโจทก์ไปงานศพของนางสุริยา (ไม่ทราบวันที่) แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

4.คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ โจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นางสุริยาถึงแก่ความตาย โดยนางสุริยาถึงแก่ความตายวันที่ 10 ธ.ค.45 อายุความเริ่มนับในวันที่ 11 ธ.ค.45 ครบกำหนดในวันที่ 10 ธ.ค.55 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

5.คดีโจทก์ขาดอายุความตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 เนื่องสัญญากู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปีนับตั้งแต่วันโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องมีกำหนดชำระเงินในวันที่ 10 ธ.ค.45 โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.45 ซึ่งเป็นวันผิดนัดได้เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับในวันที่ 12 ธ.ค.45 ครบกำหนดวันที่ 11 ธ.ค.55?แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

6.โจทก์มิได้บอกกล่วงทวงถามก่อนฟ้อง

หลักการบรรยาย

กรณีจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่าสัญญาตามคำฟ้องเป็นเอกสารปลอมต้องอธิบายด้วยว่าปลอมอย่างไร

ฎ.3564/2537 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมขึ้นดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสามเป็นการต่อสู้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาปลอมเป็นสำคัญข้อที่ว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ไม่ทำให้เปลี่ยนประเด็นเป็นอย่างอื่นเมื่อจำเลยทั้งสามไม่อ้างเหตุว่าปลอมอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่มิได้ให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา177 วรรคสอง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้อต่อสู้นั้น

ในทำนองเดียวกัน ?กรณีจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ จำเลยจะให้การลอยๆว่าคดีขาดอายุความไม่ได้ จำเลยจะต้องอธิบายโดยรายละเอียดว่า
– กรณีตามคำฟ้องจะต้องฟ้องภายในอายุความกี่ปี
– โจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
– อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
– ครบกำหนดอายุความวันที่เท่าไหร่
– โจทก์ฟ้องคดีวันที่เท่าไหร่

ฏ.14892/2551?จำเลยที่ 2 ปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 ต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 1 ปี นับแต่วันใดและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้วอย่างไร การที่จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันตกเป็นมรดกของ ศ. ตั้งแต่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องตามสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับถึงวันฟ้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ระบุวันที่โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ศ. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความว่าเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่ชัดแจ้งว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จำเลยที่ 2 จะอนุมานเอาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของ ศ. ว่าเป็นวันใดก็ไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

แนวคำตอบภาคปฏิบัติ รุ่น 40 ข้อคำฟ้องอาญา

ในการบรรยายคำฟ้องอาญาข้อหา “ปลอมเอกสารสิทธิ” ตามป.อาญา ม.264 และม.265 จะต้องครบองค์ประกอบดังนี้

1.ต้องบรรยายว่า “สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ” จะบรรยายแค่ว่า “ปลอมสัญญากู้” เฉยๆไม่ได้

2.ต้องบรรยายว่า สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิตามบทนิยามในป.อาญา ม.1(9) อย่างไร

3.ต้องบรรยายว่า เป็นการปลอมโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

4.ต้องบรรยายว่า เป็นการปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่จริง

หากบรรยายขาดไปข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คะแนนข้อคำฟ้องอาญาน่าจะได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

รายละเอียดอยู่ในชีทชุดที่ 3 คำฟ้องอาญาและคำร้องทุกข์เป็นหนังสือครับ

ส่วนข้อหายักยอก แม้จะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา แต่โดยปกติในแนวคำตอบจะไม่มีคำขอให้คืนเงินมาในคำฟ้องอาญาด้วย ยกเว้นแต่กรณีที่ข้อสอบสั่งให้เรียกเท่านั้น ดังนั้น ผู้เข้าสอบที่มีคำขอให้คืนเงินที่ยักยอกน่าจะทำเกินแนวคำตอบครับ

หมายเหตุ

ข้อเท็จจริงในข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 40 คล้ายกับข้อเท็จจริงในข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 27 ซึ่งอ.เป้ได้ให้นักเรียนฝึกเขียนคำให้การ คำร้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น และคำฟ้องอาญาในคอร์สแล้ว

คำสั่งข้ออื่นๆอ.เป้ได้สอนและได้ฝึกเขียนให้นักเรียนในคอร์สแล้วเช่นกัน จึงมั่นใจว่านักเรียนของสถาบันจะสามารถสอบผ่านได้เป็นจำนวนมาก

พบกันวันติวสอบปากเปล่าครับ

*** หากข้อเท็จจริงที่อ.เป้ได้รับแจ้งจากนักเรียนเปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลให้แนวคำตอบเปลี่ยนแปลงได้ด้วย *****

******************************************

Write a comment