ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 40

ข้อเท็จจริง

นางสาวหนึ่ง มาพบทนายความ ขื่อ นายเจษฎา โดยนางสาวหนึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทเพียงคนเดียวของนางสุริยา ?นางสาวหนึ่งเอาคำฟ้องของนางสาวจันทราที่ตนถูกฟ้องให้ชำระเงินจำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งนางสุริยาเป็นผู้กู้ไว้ก่อนเสียชีวิต สัญญากู้ทำกันวันที่ 10 ธ.ค. 44 ครบกำหนดชำระวันที่ 10 ธ.ค. 45 สัญญากู้ทำกันไว้เป็นเงิน 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 ธ.ค.45 นางสุริยาตาย

วันที่ 20ส.ค.55 คนรับใช้ของนางจันทรา ชื่อสมร เป็นผู้เล่าให้กับ นางสาวหนึ่งฟังว่า วันที่ 20 ส.ค.55 นางจันทราได้ปลอมสัญญากู้โดยเติมเลข 1 และ , ไว้ด้านหน้าเลข 5

ก่อนเสียชีวิตนางสุริยา และ นางจันทรา ได้เปิดบัญชี เงินฝากร่วมกัน โดยตกลงกันว่า จะทำธุรกิจขายที่ดินร่วมกัน และตกลงว่า พอได้เงินมาจะนำมาเข้าบัญชี รวมกันไว้ โดยมีข้อตกลงว่า คนใดคนหนึ่งสามารถเบิกเงินได้ทั้งหมด นางสาวหนึ่งเล่าให้ฟังว่าก่อนที่นางสุริยาจะตาย มีเงินในบัญชีดังกล่าว 5,100,000 บาท

ต่อมาวันที่ 20 พ.ย. 55 นางสาวจันทราเบิกเงินไปจากบัญชี 5,000,000บาท ในงานศพของนาง สุริยา นางสาว หนึ่ง ได้ทวงถามให้นางจันทรา นำเงินครึ่งหนึ่งที่เบิกไปมาคืนตนซึ่งนางสุริยาก็รับปากว่าจะคืน แต่นางสุริยาก็เพิกเฉยตลอดมา?(วันฟ้อง 14 ธค 55)

 

คำสั่ง

1. คำให้การคดีแพ่ง 25 คะแนน

2. คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีอาญา 25 คะแนน

3. คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย 15 คะแนน

4. ใบแต่งทนายความ 5 คะแนน

5. คำร้องขอปิดหมายและส่งหมายข้ามเขต 5 คะแนน

6. คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง 5 คะแนน

แนวคำตอบ > ข้อต่อสู้ในคำให้การ

1. สัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะโจทก์แก้ไขเพิ่มเติมข้อความโดยเติหมายเลข 1 และ , ในสัญญากู้ยืมเงิน โดยไม่มีสิทธิ

2.โจทก์ส่งมอบเงินกู้ให้แก่มารดาจำเลยเพียง 500,000 บาท โจทก์มิได้ส่งมอบเงินกู้จำนวน 1,000,000 บาทให้แก่มารดาจำเลยหรือจำเลย หนี้เงินกู้จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงเป็นหนี้ที่ไม่บริบูรณ์

3.คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่านางสุริยาถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์รู้ว่านางสุริยาตายตั้งแต่ปี 45 เพราะโจทก์ไปงานศพของนางสุริยา (ไม่ทราบวันที่) แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

4.คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ โจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นางสุริยาถึงแก่ความตาย โดยนางสุริยาถึงแก่ความตายวันที่ 10 ธ.ค.45 อายุความเริ่มนับในวันที่ 11 ธ.ค.45 ครบกำหนดในวันที่ 10 ธ.ค.55 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

5.คดีโจทก์ขาดอายุความตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 เนื่องสัญญากู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปีนับตั้งแต่วันโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องมีกำหนดชำระเงินในวันที่ 10 ธ.ค.45 โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.45 ซึ่งเป็นวันผิดนัดได้เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับในวันที่ 12 ธ.ค.45 ครบกำหนดวันที่ 11 ธ.ค.55?แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

6.โจทก์มิได้บอกกล่วงทวงถามก่อนฟ้อง

หลักการบรรยาย

กรณีจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่าสัญญาตามคำฟ้องเป็นเอกสารปลอมต้องอธิบายด้วยว่าปลอมอย่างไร

ฎ.3564/2537 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมขึ้นดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสามเป็นการต่อสู้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาปลอมเป็นสำคัญข้อที่ว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ไม่ทำให้เปลี่ยนประเด็นเป็นอย่างอื่นเมื่อจำเลยทั้งสามไม่อ้างเหตุว่าปลอมอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่มิได้ให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา177 วรรคสอง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้อต่อสู้นั้น

ในทำนองเดียวกัน ?กรณีจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ จำเลยจะให้การลอยๆว่าคดีขาดอายุความไม่ได้ จำเลยจะต้องอธิบายโดยรายละเอียดว่า
– กรณีตามคำฟ้องจะต้องฟ้องภายในอายุความกี่ปี
– โจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
– อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
– ครบกำหนดอายุความวันที่เท่าไหร่
– โจทก์ฟ้องคดีวันที่เท่าไหร่

ฏ.14892/2551?จำเลยที่ 2 ปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 ต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 1 ปี นับแต่วันใดและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้วอย่างไร การที่จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันตกเป็นมรดกของ ศ. ตั้งแต่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องตามสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับถึงวันฟ้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ระบุวันที่โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ศ. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความว่าเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่ชัดแจ้งว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จำเลยที่ 2 จะอนุมานเอาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของ ศ. ว่าเป็นวันใดก็ไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

แนวคำตอบภาคปฏิบัติ รุ่น 40 ข้อคำฟ้องอาญา

ในการบรรยายคำฟ้องอาญาข้อหา “ปลอมเอกสารสิทธิ” ตามป.อาญา ม.264 และม.265 จะต้องครบองค์ประกอบดังนี้

1.ต้องบรรยายว่า “สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ” จะบรรยายแค่ว่า “ปลอมสัญญากู้” เฉยๆไม่ได้

2.ต้องบรรยายว่า สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิตามบทนิยามในป.อาญา ม.1(9) อย่างไร

3.ต้องบรรยายว่า เป็นการปลอมโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

4.ต้องบรรยายว่า เป็นการปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่จริง

หากบรรยายขาดไปข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คะแนนข้อคำฟ้องอาญาน่าจะได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

รายละเอียดอยู่ในชีทชุดที่ 3 คำฟ้องอาญาและคำร้องทุกข์เป็นหนังสือครับ

ส่วนข้อหายักยอก แม้จะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา แต่โดยปกติในแนวคำตอบจะไม่มีคำขอให้คืนเงินมาในคำฟ้องอาญาด้วย ยกเว้นแต่กรณีที่ข้อสอบสั่งให้เรียกเท่านั้น ดังนั้น ผู้เข้าสอบที่มีคำขอให้คืนเงินที่ยักยอกน่าจะทำเกินแนวคำตอบครับ

หมายเหตุ

ข้อเท็จจริงในข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 40 คล้ายกับข้อเท็จจริงในข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 27 ซึ่งอ.เป้ได้ให้นักเรียนฝึกเขียนคำให้การ คำร้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น และคำฟ้องอาญาในคอร์สแล้ว

คำสั่งข้ออื่นๆอ.เป้ได้สอนและได้ฝึกเขียนให้นักเรียนในคอร์สแล้วเช่นกัน จึงมั่นใจว่านักเรียนของสถาบันจะสามารถสอบผ่านได้เป็นจำนวนมาก

พบกันวันติวสอบปากเปล่าครับ

*** หากข้อเท็จจริงที่อ.เป้ได้รับแจ้งจากนักเรียนเปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลให้แนวคำตอบเปลี่ยนแปลงได้ด้วย *****

******************************************

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 36

คำถาม

นายหนึ่ง มกรา ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22 เลขที่ดิน 2 ตำบลจอมพล อำเภอจตุจักร กทม. เนื้อที่ 2 ไร่ ซื้อเมื่อปี 2520 ที่ดินแปลงนี้ไม่มีทางเข้าออก

นายหนึ่งจึงทำถนนดินบนที่ดินแปลงติดกันเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก

ต่อมาปี 2540 นายหนึ่งได้ขออนุญาตในการก่อสร้างโกดังสินค้า และปรับปรุงถนนเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 6 เมตร ในการก่อสร้างคราวเดียวกันและใช้เป็นทางเข้าออกเพื่อขนส่งสินค้าเรื่อยมา โดยเปิดเผยและไม่มีผู้ใดขัดขวาง

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 55 นายเอก มกราน้องชายนายหนึ่ง เห็นว่ามีคนงานกำลังก่อสร้างแนวกำแพงคอนกรีตเพื่อปิดถนนทางเข้าออก สอบถามคนงานได้ความว่า นายพุธ มีนาเป็นคนจ้างให้ทำ

นายเอก มกราน้องชายนายหนึ่ง จึงไปหานายพุธ มีนา ซึ่งเป็นผจก.ที่ดินแปลงนี้ นายพุธ แจ้งว่า นายอังคาร กุมภาเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 11 เลขที่ดิน 1 ตำบลจอมพล อำเภอจตุจักร กทม. เนื้อที่ 4 ไร่ ซื้อเมื่อปี 2553 ตนได้เห็นว่ามีการทำถนนบนที่ดินของนายอังคาร จึงได้ทำการก่อกำแพงปิดถนนและไม่ต้องการให้ใครใช้ โดยได้แจ้งให้นายอังคารทราบและเห็นชอบแล้ว

ในวันเดียวกัน นายหนึ่ง มกราและนายเอก มกราได้ ไปพบนายพุธ และนายอังคาร เพื่อขอให้รื้อกำแพง ทั้งสองไม่ยอม

นายหนึ่งไม่สามารถนำสินค้าออกจากโกดังเพื่อส่งให้ลูกค้าได้ ทำให้ต้องไปเช่าโกดังแห่งอื่นเพื่อใช้เก็บสินค้า ทำให้ต้องเสียค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นเป็นรายวันๆละ 10,000บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 55เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 55 นายหนึ่งได้มาหานายชอบ ยุติธรรมทนายความ เพื่อเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น และยังเล่าอีกว่าเมื่อวานนี้ เวลา 20.00 น. นายพฤหัส เมษา ที่เคยเป็นลูกจ้างของนายหนึ่ง มกรา ได้แวะมาหาที่บ้าน และได้แอบเอาบัตรATMของธนาคารกรุงเทพ ที่ออกให้แก่ตนไป และนำไปถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของตนเป็นจำนวน 40,000บาท ที่ตู้ ATM ข้างบ้านนายหนึ่ง และได้หลบหนีไป

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 55 นายหนึ่งยื่นคำฟ้องแพ่งเพื่อให้รื้อแนวกำแพงและให้นายอังคารจดทะเบียนภาระจำยอมให้นายหนึ่งได้ใช้ถนน และเรียกค่าเสียหายดังกล่าว พร้อมยื่นบัญชีระบุพยานและยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวไปในคราวเดียวกัน และได้แต่งตั้งท่านเป็นทนายยื่นฟ้องนายพฤหัส เมษาในคดีอาญาทุกข้อกล่าวหา ให้มีอำนาจจำหน่ายสิทธิและดำเนินคดีถึงที่สุด

คำสั่ง

1.คำฟ้องแพ่ง (ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย) 36 คะแนน
2.คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา 16 คะแนน
3.คำฟ้องอาญา 16 คะแนน
4.บัญชีพยาน 7 คะแนน
5.ใบแต่งทนายความ 5 คะแนน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงด เว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา 1401 ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น (มาตรา 425,426) ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 425 นายจ้าง (ตัวการ) ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง (ตัวแทน) ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง (ในกิจการที่ได้รับมอบหมาย)

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือ ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์

(1) ในเวลากลางคืน

(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น

มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 269/7 ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตร อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง

แนวคำตอบ

  • ข้อหา : ภาระจำยอม, ทางจำเป็น, ละเมิด, เรียกค่าเสียหาย
  • คู่ความ : นายหนึ่ง มกรา โจทก์ , นายอังคาร กุมภา จำเลยที่ 1, นายพุธ มีนา จำเลยที่ 2
  • ค่าเสียหาย :
    A1. ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางจำเป็นหรือภาระจำยอม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
    A2. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนแทน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย
    A3. จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์ในกิจการที่ได้รับมอบหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 คิดถึงวันฟ้อง (10 กุมภาพันธ์ 2555) เป็นเวลา 10 วัน คิดเป็นเงิน 100,000 บาท
    A4. จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้คิดค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 10,000 บาทนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จสิ้น
    B. ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง : คำสั่งระบุว่าไม่ต้องคิดดอกเบี้ย จึงไม่ต้องคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องในส่วนของค่าเสียหายรายวัน (A3)
    C. คดีนี้มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ 2 ประเภทคือคำขอที่คำนวณเป็นจำนวนเงินไม่ได้และคำนวณเป็นจำนวนเงินได้จึงให้ถือตามคำขอหลักคือให้จดทะเบียนภาระจำยอมและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นคำขอที่คำนวณเป็นจำนวนเงินไม่ได้ คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
    D. คำสั่งระบุว่าไม่ต้องคิดดอกเบี้ย จึงไม่ต้องคิดดอกเบี้ยหลังฟ้องในส่วนของค่าเสียหายรายวันทั้งก่อนฟ้อง(A3) และ หลังฟ้อง(A4)

********************************

ติวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ภาคทฤษฎี? ภาคปฏิบัติ และ ผู้ฝึกงาน 1 ปี (ตั๋วปี) กับ อ.เป้ สิททิกรณ์? โทร.086-987-5678? หรือดูรายละเอียดที่ www.SmartLawTutor.com

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 37

ข้อเท็จจริง

วันที่10 พ.ค. 2555 นางหนึ่ง มกรา มาพบนายชอบ ยุติธรรม ทนายความ โดยเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังว่า เมื่อปี 2535 นางหนึ่ง มกรา ได้จดทะเบียนสมรสกับนายเอก มกรา

หลังจากจดทะเบียน เมื่อประมาณวันที่ 15 มี.ค. 45 นางหนึ่ง มกรา และนายเอก มกรา ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ 11 เลขระวาง 1ย หน้าที่ดิน 123… จากการแนะนำของนายสอง กุมภา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนายเอก มกรา มาตั้งแต่ก่อนที่จะสมรสกับนางหนึ่ง มกรา โดยในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น ระบุให้นายเอก มกรา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เพียงผู้เดียว

ต่อมา ประมาณต้นปี 2555 นางหนึ่ง มกรา และนายเอก มกรา เริ่มมีปัญหากัน นางหนึ่งมกรา หาโฉนดที่ดินไม่พบ จึงจะไปแจ้งความ แต่นายเอก มกรา กลับไม่ยอมให้ไป นางหนึ่งมกราจึงไปสอบถามจากนายสอง มกรา แต่นายสอง มกรา ไม่ยอมบอกแต่นายสอง กุมภาดูมีพิรุธ และบอกให้ไปสอบถามนายเอก มกราเอง

นางหนึ่ง มกรา สงสัยว่าจะมีการทำนิติกรรมเกิดขึ้น จึงมาพบท่าน นายชอบ ยุติธรรม เพื่อมอบอำนาจให้ไปตรวจสอบการทำนิติกรรมที่ดิน

หลังจากที่ไปตรวจสอบพบว่ามีการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างนายเอก มกรา และ นายสอง กุมภาเมื่อวันที่ 10 ก.พ.54 มีกำหนดเวลา 3 ปี (ราคาประเมินที่ดิน 5,000,000 บ.) โดยนายเอก มกรา ได้แจ้งกับเจ้าพนักงานที่ดินให้จดข้อความลงในเอกสารว่าไม่เคยมีภริยา

ในวันที่ 25 พ.ค. 2555 นางหนึ่ง มกราจึงแต่งตั้งท่าน นายชอบ ยุติธรรม เป็นทนายความฟ้องคดีแพ่งต่อศาลเยวชนและครอบครัวกลางเพื่อรักษาสิทธิของตน และฟ้องคดีอาญาต่อศาลแขวง..ข้อหา..

คำสั่ง

1. หนังสือขอตรวจสอบนิติกรรมที่ดิน (12 คะแนน)

2. หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน ท.ด. 21 (5คะแนน)

3. คำฟ้องแพ่ง (36 คะแนน)

4. บัญชีพยาน (9คะแนน)

5. คำฟ้องอาญา (18คะแนน)

แนวคำตอบข้อคำฟ้องแพ่ง

  • ข้อหา : เพิกถอนนิติกรรม
  • คู่ความ
    – โจทก์ : นางหนึ่ง มกรา
    – จำเลย : นายเอก มกรา ที่ 1, นายสอง กุมภา ที่ 2
  • ค่าเสียหาย
    – ให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
    – ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์
    – ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1475 ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ใน มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ สามีหรือภริยา จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่ สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม นั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่า ตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่ วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

ฎ.10633/2551?โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และเมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

ข้อสังเกต

อ.เป้ สิททิกรณ์ ได้สอนหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่นำมาออกข้อสอบในข้อนี้ในคอร์สติวสอบใบอนุญาตทนายความ ภาคปฏิบัติ รุ่น 37 โดยเขียนอธิบายไว้ในชีทชุดคำฟ้องแพ่ง 22-24 ขอให้นักเรียนสอบผ่านเยอะๆนะครับ

แนวคำตอบข้ออื่น

– หนังสือขอตรวจสอบการทำนิติกรรมให้ทำกระดาษเปล่า F4
– หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน ท.ด.21 ใช้แบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินท.ด.21ที่กรรมการแจกมา (ไม่ใช่กระดาษเปล่า F4)
– บัญชีพยาน : ใช้แบบพิมพ์บัญชีพยาน หากไม่พอให้ต่อด้วยแบบพิมพ์บัญชีพยาน (ไม่ใช่กระดาษเปล่า F4 และ 40ก.)
– คำฟ้องอาญา : ใช้แบบพิมพ์คำฟ้อง,40ก.,คำขอท้ายฟ้องอาญา โดยให้นางหนึ่ง มกรา เป็นโจทก์ฟ้องนายเอก มกราเป็นจำเลย โดยอ้างว่านางหนึ่ง มกรา เป็นผู้ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจ ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฎ.8738/2552 จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137

เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง

**********************

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 38

25560307-102546.jpg

ในการอบรมภาคปฏิบัติ รุ่น 39 ของสภาทนายความ ที่ม.สยาม ผู้บรรยายได้นำข้อเท็จจริงจากข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 38 มาให้ผู้เข้าอบรมฝึกเขียน มีแนวคำตอบการวินิจฉัยข้อกฎหมายในข้อคำฟ้องแพ่งดังนี้ครับ

1.ข้อหา

– รับช่วงสิทธิ, ประกันภัย, เจ้าสำนักโรงแรม,ละเมิด

2.คู่ความ

– โจทก์ : บมจ.ประกันภัยแสนดี
– จำเลย :
1) บจก.สุขสบาย > เจ้าสำนักโรงแรม
2) หจก.มั่นคง > ผู้รับจ้างรักษาความปลอดภัย
3) นายมั่น > หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของหจก.มั่นคง
*** ไม่ฟ้อง หจก.มกรา (ผู้ยืม) นายจันทร์ มกรา (หุ้นส่วนผู้จัดการ) และนายพุธ มีนา (ลูกจ้าง)***

3.ค่าเสียหาย

A.ให้ชดใช้เงิน 800,000บาท
B.ดอกเบี้ยก่อนฟ้องอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงิน 800,000บาท นับแต่วันชดใช้คือวันที่ 6 ก.พ.55 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,000บาท
C.ทุนทรัพย์ 805,000บาท
D.ดอกเบี้ยหลังฟ้องอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

เห็นได้ว่า แนวคำตอบของสภาทนายความตรงกับแนวคำตอบผมที่เฉลยไว้ใน www.ตั๋วทนาย.com

ผู้ที่สนใจสมัครติวสอบทนายความ ภาคปฏิบัติ รุ่น 39 กับ อ.เป้ & อ.ตูน ที่สาขาลาดพร้าว,รามคำแหง,บางแค สามารถเข้าไปดูรอบได้ที่ www.SmartLawTutor.com

สอบถาม/สมัครติวโทร 086-987-5678

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 39

คำถามและแนวคำตอบข้อสอบทนายความ ภาคปฏิบัติ รุ่น 39

คำฟ้องแพ่ง

1.ข้อหา

> ละเมิด, ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

2.คู่ความ

> โจทก์ : นายจันทร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นของบจก.เริ่มรวย (ฎ.10878/51) หรือ บจก.เริ่มรวย โดยนายจันทร์ ผู้ถือหุ้น (ฎ.115/2535)

ฎ.10878/51 ตามคำฟ้องของโจทก์ (ผู้ถือหุ้น) เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. ได้สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท อันมีลักษณะเป็นการกล่าวอ้างว่ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท เมื่อปรากฏว่าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจเอาคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวฟ้องร้องแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง และโจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินทั้ง 25 แปลง คืนให้แก่บริษัท หรือหากไม่สามารถโอนคืนก็ให้ใช้ราคาที่ดินแทนได้ เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. 438 วรรคสอง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิใช่กรรมการบริษัทรับผิดโอนที่ดินร่วม 19 แปลง คืนให้แก่บริษัทหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง

ฎ.115/2535 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้แทน บริษัทโจทก์ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ (บริษัท) ป. ผู้ถือหุ้นของโจทก์ จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เมื่อ ป. ได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วต่อมาได้ถอนคำร้องทุกข์ไม่ว่าป. จะดำเนินการในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้นก็ตาม สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

> จำเลย : นายอังคาร และนายโท

3.ค่าเสียหาย & ดอกเบี้ย

A.ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 20,000,000บาท

ข้อสังเกต : เหตุที่คิด 20,000,000 บาท เป็นเพราะที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติแล้วว่าให้ขายที่ดินในราคาที่บริษัทได้ประโยชน์สูงสุด แม้ในขณะซื้อขายบจก.มีนาจะยังไม่ได้เสนอซื้อที่ดินในราคา 40,000,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงระบุว่า ราคา 40,000,000 บาทเป็นราคาตามท้องตลาด ดังนั้น จำเลยทั้งสองย่อมทราบว่าในขณะซื้อขายที่ดินจะต้องขายในราคาสูงสุดก็คือ ราคาตามท้องตลาด 40,000,000 บาท มิใช่ราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน 30,000,000 บาท และมิใช่ราคาที่ขายให้กับนายอาทิตย์ 20,000,000 บาท ดังนั้น โจทก์จึงสิทธิเรียกค่าสินไหมฯได้ 20,000,000 บาท

นอกจากนี้ โจทก์จะฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองกับนายอาทิตย์มิได้เพราะกฎหมายให้สิทธิไว้แต่เพียงฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมฯเท่านั้น (ฎ.2481/2552)

ฏ.2481/2552 มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ให้อำนาจผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหาย โดยเป็นการฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องเพื่อเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเท่านั้น การที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 (บุคคลภายนอก) และที่ 2 (บริษัท) โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 (กรรมการ) ได้คบคิดกันฉ้อฉล และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนคืนที่ดินแก่จำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 ผู้เป็นกรรมการไม่ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นกรรมการ โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้องกรณีนี้

B.ดอกเบี้ยก่อนฟ้องคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิดซึ่งกรณีนี้ได้แก่วันจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน กล่าวคือ วันที่ 16 ตุลาคม 2555 คิดถึงวันฟ้อง (15 พ.ย.55) เป็นเวลา 1 เดือน คิดเป็นเงิน 125,000 บาท

C.ทุนทรัพย์ 20,125,000 บาท

D.ดอกเบี้ยหลังฟ้องคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 20,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

อ่านแนวคำตอบแล้ว ขอให้ใจเย็นๆไว้ครับ รอประกาศผลสอบ 12 เม.ย.56 ชัดเจนที่สุดครับ

ช่วยกันคลิ้ก Like หรือ Share หรือ Tag ด้วยนะครับ

อ่านต่อ