อ.เป้ : ข้อสอบตั๋วทนาย

ข้อสอบตั๋วปี 2/56

แนวคำตอบข้อสอบตั๋วปี 2/56 โดย อ.เป้ @สมาร์ทลอว์ติวเตอร์

1381212_543513885731680_582555156_n

คำสั่ง?

1. ให้ทำหนังสือแนะนำปัญหาข้อกฎหมาย 12 คะแนน
2.คำฟ้องแพ่ง 33 คะแนน
3. หนังสือทวงถาม 8 คะแนน
4.คำแถลงขอปิดหมาย (คดีแพ่ง) 5 คะแนน
5. คำฟ้องอาญา 12 คะแนน

 

แนวคำตอบข้อคำฟ้องแพ่ง

ข้อหา > ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต, ภาระจำยอม, ละเมิด

คู่ความ > โจทก์ : นายหนึ่ง กอไก่, จำเลยที่ 1 : นายสอง, จำเลยที่ 2 : นายสาม

ค่าเสียหายและดอกเบี้ย

A. ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินส่วนที่โจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ออกค่าใช้จ่าย
ให้จำเลยที่ 1 รับค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำไปจากโจทก์
ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดแก่โจทก์จำนวน 300,000บาท

B.ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีของค่าเสียหาย 300,000บาท นับแต่วันที่ 30 มี.ค.56 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดคิดถึงวันฟ้อง (20มิ.ย.56) เป็นเวลา 2 เดือน 22 วัน โดยโจทก์ขอคิดเป็นเวลา 2 เดือน คิดเป็นเงิน 3,750 บาท

C.ทุนทรัพย์ 303,750 บ. (คำนวณจากยอดค่าเสียหายจากการทำละเมิดและดอกเบี้ยเท่านั้น)

D.ดอกเบี้ยหลังฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหาย 300,000บ. นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันหรือแทนกัน ชำระแก่โจทก์ครบถ้วน

แนวคำตอบข้อคำฟ้องอาญา

ข้อหา > ทำร้ายร่างกายสาหัส

คู่ความ > โจทก์ : นายหนึ่ง กอไก่, จำเลยที่ 1 : นายสอง
,จำเลยที่ 2 : นายสาม

กรณีพิเศษ (เพิ่มโทษ, นับโทษต่อ, ค่าเสียหายทางแพ่ง) > ไม่มี

หมายเหตุ แนวคำตอบนี้ทำจากข้อเท็จจริงที่นักเรียนเล่าให้ฟัง หากข้อเท็จจริงที่รับฟังมาคลาดเคลื่อนอาจมีผลทำให้แนวคำตอบนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป

 

รอสภาฯประกาศผลสอบ 4 ธ.ค.56 ขอให้ทุกคนสอบผ่านครับ

 

อนุญาตให้แชร์ได้ โดยให้เครดิตครับ

 

*****************************************

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคทฤษฎี รุ่น 41

คำถามและแนวคำตอบข้อสอบ ตั๋วทนาย ภาคทฤษฎี รุ่น 41

โดย อาจารย์เป้ www.SmartLawTutor.com

1380440_511951902228735_1922070510_n

ข้อเท็จจริงโดยย่อ

นายหนึ่งทำสัญญาว่าจ้างออกแบบและตกแต่งห้องชุดลงวันที่ 10 มิถุนายน 2555 กับบริษัทจันทร์ดีไซด์จำกัด มีนายพุธเป็นกรรมการผู้จัดการ ตกลงค่าจ้างกัน 3 ล้านบาท ตกลงในข้อสัญญาว่าให้ทำแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนเริ่มทำเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2555 โดยถือเอากำหนด 3 เดือนเป็นสาระสำคัญ

นายหนึ่งได้จ้างสถาปนิกเป็นผู้ดูแล เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือนสถาปนิกแจ้งว่าบริษัทฯทำงานล่าช้า ใช้วัสดุต่ำกว่าคุณภาพที่ตกลงไว้ในสัญญา หากปล่อยให้บริษัทฯทำต่อไป จะทำให้เสร็จไม่ทันตามกำหนดตามสัญญา

นายหนึ่งให้ทนายความชื่อ นายตุลาทำหนังสือบอกเลิกสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2555 เรียกเงินที่นายหนึ่งชำระไปแล้วบางส่วน 2 ล้าน และทำสัญญาใหม่จ้างบริษัทอื่นมาทำแทนเป็นเงิน 5 ล้าน เป็นค่ารื้อถอนเดิม 1ล้าน ค่าตกแต่ง 4ล้าน ทำให้ราคาเพิ่มจากสัญญาเดิม 2 ล้าน ทำให้นายหนึ่งเสียหาย 4 ล้าน ภายใน 7 วันนับแต่วันรับหนังสือบอกเลิกสัญญา ปรากฎว่าบริษัทฯได้รับหนังสือแล้วได้ขนย้ายของและคนออกแล้ว แต่ไม่คืนเงินพร้อมค่าเสียหาย

ระหว่างระยะเวลาหลังจากนายหนึ่งให้ทนายยื่นหนังสือบอกเลิกสัญญาบริษัทฯ จนถึงก่อนฟ้อง บริษัทฯได้ขนย้ายบริวารและเครื่องมือออกจากห้องชุดของนายหนึ่ง แต่นายดำและนายแดงซึ่งเป็นพนักงานบริษัทฯได้ใช้เหล็กทุบกระจกในบ้านค่าเสียหายคิดเป็นเงิน 500,000 บาท

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ท่านยื่นฟ้องบริษัทฯ ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 4 ล้านพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระครบถ้วน

ในวันนัดชี้สองสถานบริษัทฯทำส.ประนีประนอมในศาล ว่ายอมรับตามฟ้องจะชดใช้ค่าเสียหายเปนเงิน 3 ล้านบาท โจทไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดจากจำเลยอีกค่าธรรมเนียมที่ศาลสั่งไม่คืนโจทก์และจำเลยตกลงให้เป็นพับ

คำสั่ง

ข้อ 1. คำฟ้องแพ่งและคำขอท้ายคำฟัองแพ่ง 35 คะแนน
ข้อ 2. สัญญาประนีประนอมยอมความ(ในศาล) 15 คะแนน
ข้อ 3. หนังสือบอกเลิกสัญญา 15 คะแนน
ข้อ 4. หนังสือมอบอำนาจร้องทุกข์ 10 คะแนน (ไม่ใช่คำร้องทุกข์เป็นหนังสือ)
ข้อ 5. คำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ 5 คะแนน

แนวคำตอบคำฟ้องแพ่ง

1.ข้อหา

> ผิดสัญญาจ้างทำของ

2.คู่ความ

> โจทก์ : นายหนึ่ง (ไม่มีการมอบอำนาจฟ้องคดีแพ่ง หากบรรยายว่ามอบอำนาจโดนหาร 2)
> จำเลย บจก.จันทร์ดีไซน์ (ไม่ฟ้องกรรมการเพราะโดยหลักแล้วกรรมการที่ทำสัญญาในขอบฯและถูกต้องตามข้อบังคับจะไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาของบริษัทฯ หากฟ้องกรรมการโดนหาร 2)

3.ค่าเสียหายและดอกเบี้ย

> A : ให้คืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายรวม 4,000,000บ.
> B : ไม่คิดเพราะข้อสอบระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
> C : 4,000,000
> D : ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียง?

ฎ.1950/2515?กรรมการทำสัญญาในฐานะผู้แทนของบริษัทจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว

ฎ.133/2524?จำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญในเช็คพิพาทเพื่อชำระราคาอ้อยให้แก่ ว.เป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่

หมายเหตุ

– หลักกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องบริษัทจำกัดและคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับ อ.เป้ได้เน้นให้ในห้องเรียนแล้วโดยอยู่ในชีทชุดที่ 2 คำฟ้องแพ่ง หน้า 53

– ข้อเท็จจริงที่กรรมการนำมาออกข้อสอบดัดแปลงมาจากข้อเท็จจริงที่ 1 เรื่องนายสมาน รักแต่งบ้าน ที่อ.เป้ใช้สอนการวินิจฉัยหลักกฎหมายในวันติวสรุปช่วงบ่าย

*********************************

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 40

ข้อเท็จจริง

นางสาวหนึ่ง มาพบทนายความ ขื่อ นายเจษฎา โดยนางสาวหนึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทเพียงคนเดียวของนางสุริยา ?นางสาวหนึ่งเอาคำฟ้องของนางสาวจันทราที่ตนถูกฟ้องให้ชำระเงินจำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งนางสุริยาเป็นผู้กู้ไว้ก่อนเสียชีวิต สัญญากู้ทำกันวันที่ 10 ธ.ค. 44 ครบกำหนดชำระวันที่ 10 ธ.ค. 45 สัญญากู้ทำกันไว้เป็นเงิน 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 ธ.ค.45 นางสุริยาตาย

วันที่ 20ส.ค.55 คนรับใช้ของนางจันทรา ชื่อสมร เป็นผู้เล่าให้กับ นางสาวหนึ่งฟังว่า วันที่ 20 ส.ค.55 นางจันทราได้ปลอมสัญญากู้โดยเติมเลข 1 และ , ไว้ด้านหน้าเลข 5

ก่อนเสียชีวิตนางสุริยา และ นางจันทรา ได้เปิดบัญชี เงินฝากร่วมกัน โดยตกลงกันว่า จะทำธุรกิจขายที่ดินร่วมกัน และตกลงว่า พอได้เงินมาจะนำมาเข้าบัญชี รวมกันไว้ โดยมีข้อตกลงว่า คนใดคนหนึ่งสามารถเบิกเงินได้ทั้งหมด นางสาวหนึ่งเล่าให้ฟังว่าก่อนที่นางสุริยาจะตาย มีเงินในบัญชีดังกล่าว 5,100,000 บาท

ต่อมาวันที่ 20 พ.ย. 55 นางสาวจันทราเบิกเงินไปจากบัญชี 5,000,000บาท ในงานศพของนาง สุริยา นางสาว หนึ่ง ได้ทวงถามให้นางจันทรา นำเงินครึ่งหนึ่งที่เบิกไปมาคืนตนซึ่งนางสุริยาก็รับปากว่าจะคืน แต่นางสุริยาก็เพิกเฉยตลอดมา?(วันฟ้อง 14 ธค 55)

 

คำสั่ง

1. คำให้การคดีแพ่ง 25 คะแนน

2. คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีอาญา 25 คะแนน

3. คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย 15 คะแนน

4. ใบแต่งทนายความ 5 คะแนน

5. คำร้องขอปิดหมายและส่งหมายข้ามเขต 5 คะแนน

6. คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง 5 คะแนน

แนวคำตอบ > ข้อต่อสู้ในคำให้การ

1. สัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะโจทก์แก้ไขเพิ่มเติมข้อความโดยเติหมายเลข 1 และ , ในสัญญากู้ยืมเงิน โดยไม่มีสิทธิ

2.โจทก์ส่งมอบเงินกู้ให้แก่มารดาจำเลยเพียง 500,000 บาท โจทก์มิได้ส่งมอบเงินกู้จำนวน 1,000,000 บาทให้แก่มารดาจำเลยหรือจำเลย หนี้เงินกู้จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงเป็นหนี้ที่ไม่บริบูรณ์

3.คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่านางสุริยาถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์รู้ว่านางสุริยาตายตั้งแต่ปี 45 เพราะโจทก์ไปงานศพของนางสุริยา (ไม่ทราบวันที่) แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

4.คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ โจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นางสุริยาถึงแก่ความตาย โดยนางสุริยาถึงแก่ความตายวันที่ 10 ธ.ค.45 อายุความเริ่มนับในวันที่ 11 ธ.ค.45 ครบกำหนดในวันที่ 10 ธ.ค.55 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

5.คดีโจทก์ขาดอายุความตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 เนื่องสัญญากู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปีนับตั้งแต่วันโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องมีกำหนดชำระเงินในวันที่ 10 ธ.ค.45 โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.45 ซึ่งเป็นวันผิดนัดได้เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับในวันที่ 12 ธ.ค.45 ครบกำหนดวันที่ 11 ธ.ค.55?แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 14 ธ.ค.55

6.โจทก์มิได้บอกกล่วงทวงถามก่อนฟ้อง

หลักการบรรยาย

กรณีจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่าสัญญาตามคำฟ้องเป็นเอกสารปลอมต้องอธิบายด้วยว่าปลอมอย่างไร

ฎ.3564/2537 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมขึ้นดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสามเป็นการต่อสู้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาปลอมเป็นสำคัญข้อที่ว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ไม่ทำให้เปลี่ยนประเด็นเป็นอย่างอื่นเมื่อจำเลยทั้งสามไม่อ้างเหตุว่าปลอมอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่มิได้ให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา177 วรรคสอง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้อต่อสู้นั้น

ในทำนองเดียวกัน ?กรณีจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ จำเลยจะให้การลอยๆว่าคดีขาดอายุความไม่ได้ จำเลยจะต้องอธิบายโดยรายละเอียดว่า
– กรณีตามคำฟ้องจะต้องฟ้องภายในอายุความกี่ปี
– โจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
– อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
– ครบกำหนดอายุความวันที่เท่าไหร่
– โจทก์ฟ้องคดีวันที่เท่าไหร่

ฏ.14892/2551?จำเลยที่ 2 ปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 ต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 1 ปี นับแต่วันใดและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้วอย่างไร การที่จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันตกเป็นมรดกของ ศ. ตั้งแต่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องตามสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับถึงวันฟ้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ระบุวันที่โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ศ. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความว่าเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่ชัดแจ้งว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จำเลยที่ 2 จะอนุมานเอาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของ ศ. ว่าเป็นวันใดก็ไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

แนวคำตอบภาคปฏิบัติ รุ่น 40 ข้อคำฟ้องอาญา

ในการบรรยายคำฟ้องอาญาข้อหา “ปลอมเอกสารสิทธิ” ตามป.อาญา ม.264 และม.265 จะต้องครบองค์ประกอบดังนี้

1.ต้องบรรยายว่า “สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ” จะบรรยายแค่ว่า “ปลอมสัญญากู้” เฉยๆไม่ได้

2.ต้องบรรยายว่า สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิตามบทนิยามในป.อาญา ม.1(9) อย่างไร

3.ต้องบรรยายว่า เป็นการปลอมโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

4.ต้องบรรยายว่า เป็นการปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่จริง

หากบรรยายขาดไปข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คะแนนข้อคำฟ้องอาญาน่าจะได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

รายละเอียดอยู่ในชีทชุดที่ 3 คำฟ้องอาญาและคำร้องทุกข์เป็นหนังสือครับ

ส่วนข้อหายักยอก แม้จะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา แต่โดยปกติในแนวคำตอบจะไม่มีคำขอให้คืนเงินมาในคำฟ้องอาญาด้วย ยกเว้นแต่กรณีที่ข้อสอบสั่งให้เรียกเท่านั้น ดังนั้น ผู้เข้าสอบที่มีคำขอให้คืนเงินที่ยักยอกน่าจะทำเกินแนวคำตอบครับ

หมายเหตุ

ข้อเท็จจริงในข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 40 คล้ายกับข้อเท็จจริงในข้อสอบภาคปฏิบัติ รุ่น 27 ซึ่งอ.เป้ได้ให้นักเรียนฝึกเขียนคำให้การ คำร้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น และคำฟ้องอาญาในคอร์สแล้ว

คำสั่งข้ออื่นๆอ.เป้ได้สอนและได้ฝึกเขียนให้นักเรียนในคอร์สแล้วเช่นกัน จึงมั่นใจว่านักเรียนของสถาบันจะสามารถสอบผ่านได้เป็นจำนวนมาก

พบกันวันติวสอบปากเปล่าครับ

*** หากข้อเท็จจริงที่อ.เป้ได้รับแจ้งจากนักเรียนเปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลให้แนวคำตอบเปลี่ยนแปลงได้ด้วย *****

******************************************

อ่านต่อ

ข้อสอบตั๋วปี 1/56

ข้อสอบตั๋วปี 1/56

 

อาจารย์เป้

 

ข้อเท็จจริง(โดยย่อ)

น.ส.สดสวย สาวเสมอ เป็นนางงามของเมืองขุขันธ์ ได้ตำแหน่งนางงามขุขันธ์เมื่อปี 2554 ได้มาพบท่าน ทนายโรมรัน ต่อทุกทิศ เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2556 หนังสือพิมพ์รายวันมติทาน ของบริษัท มติทาน จำกัด ในนามนายพร้อมรัก พักทุกตอน กรรมการผู้จัดการ มีนายรักษ์พงษ์ เป็นบรรณาธิการ และนายรักชาติ เป็นผู้เขียนข่าว ได้ตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์รายวันดังกล่าว ในเนื้อความข่าวว่า “ขนาดนางงาม ชื่อเล่น ปู ยอมแก้ผ้า 10 ล้าน” ซึ่งถ้าประชาชนอ่าน จะทำให้ถูกดูถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ว่าไม่มีทางทำมาหากินต้องแก้ผ้าเลี้ยงชีวิต

วันที่ 11 ก.พ. 56 ทนายความทำหนังสือบอกกล่าวทวงถาม เรียกผู้ต้องรับผิดทุกคนให้ชำระค่าเสียหาย 1ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยและ ให้ลงโฆษณาแก้ข่าวในหนังสือพิมพ์มติทาน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และสื่อท้องถิ่นของเมืองขุขันธ์เป็นจำนวน 7 วันติดต่อกัน ทุกคนได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้วเพิกเฉย ท่านจึงนำคดีแพ่งมาฟ้องต่อศาลแพ่ง และฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครเหนือด้วย

โดยได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลในวันที่ 2 มี.ค.56 เป็น คดีดำเลขที่ 111/2555 (ส่วนคดีอาญา ข้อเท็จจริงมิได้ระบุคดีหมายเลขดำมาให้)

ต่อมา ในวันที่ 19 มี.ค. 56 จำเลยได้ขอทำยอมต่อหน้าศาล ขอชำระเงิน 800,000 บาท และประกาศหนังสือพิมพ์ ตามที่โจทก์ขอ 7 วัน แต่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมเป็นคดีแดงเลขที่ 222/2556 โจทก์จึงทำคำร้องต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์จึงลงโฆษณาแก้ข่าวเองเสียค่าใช้จ่าย 150,000 บาท

 

คำสั่ง

– คำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องคดีแพ่ง 30 คะแนน
– คำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องคดีอาญา 12 คะแนน
– คำร้องขอปิดหมาย 5 คะแนน (ชื่อที่ถูกต้องคือ คำแถลงขอปิดหมาย)
– คำร้องขอออกหมายบังคับคดี 5 คะแนน (ชื่อที่ถูกต้องคือ คำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี)
– หนังสือบอกกล่าวทวงถาม 8 คะแนน
– สัญญาประนีประนอมยอมความในศาล 10 คะแนน

 

แนวคำตอบคำฟ้องแพ่ง

ข้อหา : ละเมิดต่อชื่อเสียง

คู่ความ :

โจทก์ > นางสาวสดสวย สาวเสมอ

จำเลยที่ 1 > นายรักชาติ

จำเลยที่ 2 > นายรักพงษ์

จำเลยที่ 3 > บจก.มติทาน

ค่าเสียหายและดอกเบี้ย

A. ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 1,000,000บาท

ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันลงโฆษณาแก้ข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันฯเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ดำเนินการแทน โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย

B. ดอกเบี้ยก่อนฟ้องในส่วนของค่าเสียหายต่อชื่อเสียงคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงิน 1,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2556 ซึ่งเป็นวันตีพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์อันเป็นวันทำละเมิด คิดถึงวันฟ้อง (2 มี.ค.56) เป็นเวลา 1 เดือน 4 วัน โดยโจทก์ขอคิดเป็นเวลา 1 เดือน คิดเป็นเงิน 6,250บาท

C. ทุนทรัพย์ 1,006,250 บาท

D. ดอกเบี้ยหลังฟ้องในส่วนของค่าเสียหายต่อชื่อเสียงคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 1,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วน

 

ฎ.1712/2551 จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำมาลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด จะอ้างว่าโดยปกติตนจะตรวจข่าวในกรอบพาดหัวหน้า 1 เป็นหลัก ข่าวในส่วนปลีกย่อยจะไม่ให้ความสนใจนั้นไม่ได้ เมื่อข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะต้องรับผิดเพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลาย ส่วนจำเลยที่ 1 (บมจ.) เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ด้วย

 

แนวคำตอบคำฟ้องอาญา

ข้อหา : หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

คู่ความ :

โจทก์ > นางสาวสดสวย สาวเสมอ

จำเลย > นายรักชาติ

คำขอท้ายคำฟ้องอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328,332

ให้จำเลยโฆษณาผลของคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์

ฎ.6268/2550 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ มาตรา 48 แต่ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

ฎ.3/2542?ข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณาว่าโจทก์เรียกเงิน 5 ล้าน ในการถ่ายภาพนู้ด นั้น จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความ จริงอันใดเลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่มีข้อความ ที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์ แต่กลับ เป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ใส่ความ เพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริง เข้าใจผิด ดูหมิ่น เกลียดชังโจทก์ อันส่งผลกระทบต่อเกียรติยศและสถานะในทางสังคมของโจทก์หาใช่เป็นการติ ชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ จึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 กำหนดให้คดี หมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์ หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลย เป็นผู้ชำระค่าโฆษณานั้นเป็นการให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณา คำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณา คำขออภัยด้วย ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัยด้วย จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือจากโทษ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ทั้งการที่สั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษา ของศาลทั้งหมดนั้นก็เกินความจำเป็น สมควรให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาของศาลโดยย่อพอได้ใจความ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า บริษัท ข.จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำ ความผิดหรือรู้ว่าข้อความที่ตีพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ดังนั้น ลำพังแต่เพียงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและ จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่พอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1

หมายเหตุ : ผู้เขียนทำแนวคำตอบจากข้อเท็จจริงที่นักเรียนส่งมาให้ หากข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อสอบอาจทำให้แนวคำตอบนี้เปลี่ยนแปลงไป

*************************************************

อ่านต่อ