ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 36
คำถาม
นายหนึ่ง มกรา ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22 เลขที่ดิน 2 ตำบลจอมพล อำเภอจตุจักร กทม. เนื้อที่ 2 ไร่ ซื้อเมื่อปี 2520 ที่ดินแปลงนี้ไม่มีทางเข้าออก
นายหนึ่งจึงทำถนนดินบนที่ดินแปลงติดกันเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก
ต่อมาปี 2540 นายหนึ่งได้ขออนุญาตในการก่อสร้างโกดังสินค้า และปรับปรุงถนนเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 6 เมตร ในการก่อสร้างคราวเดียวกันและใช้เป็นทางเข้าออกเพื่อขนส่งสินค้าเรื่อยมา โดยเปิดเผยและไม่มีผู้ใดขัดขวาง
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 55 นายเอก มกราน้องชายนายหนึ่ง เห็นว่ามีคนงานกำลังก่อสร้างแนวกำแพงคอนกรีตเพื่อปิดถนนทางเข้าออก สอบถามคนงานได้ความว่า นายพุธ มีนาเป็นคนจ้างให้ทำ
นายเอก มกราน้องชายนายหนึ่ง จึงไปหานายพุธ มีนา ซึ่งเป็นผจก.ที่ดินแปลงนี้ นายพุธ แจ้งว่า นายอังคาร กุมภาเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 11 เลขที่ดิน 1 ตำบลจอมพล อำเภอจตุจักร กทม. เนื้อที่ 4 ไร่ ซื้อเมื่อปี 2553 ตนได้เห็นว่ามีการทำถนนบนที่ดินของนายอังคาร จึงได้ทำการก่อกำแพงปิดถนนและไม่ต้องการให้ใครใช้ โดยได้แจ้งให้นายอังคารทราบและเห็นชอบแล้ว
ในวันเดียวกัน นายหนึ่ง มกราและนายเอก มกราได้ ไปพบนายพุธ และนายอังคาร เพื่อขอให้รื้อกำแพง ทั้งสองไม่ยอม
นายหนึ่งไม่สามารถนำสินค้าออกจากโกดังเพื่อส่งให้ลูกค้าได้ ทำให้ต้องไปเช่าโกดังแห่งอื่นเพื่อใช้เก็บสินค้า ทำให้ต้องเสียค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นเป็นรายวันๆละ 10,000บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 55เป็นต้นมา
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 55 นายหนึ่งได้มาหานายชอบ ยุติธรรมทนายความ เพื่อเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น และยังเล่าอีกว่าเมื่อวานนี้ เวลา 20.00 น. นายพฤหัส เมษา ที่เคยเป็นลูกจ้างของนายหนึ่ง มกรา ได้แวะมาหาที่บ้าน และได้แอบเอาบัตรATMของธนาคารกรุงเทพ ที่ออกให้แก่ตนไป และนำไปถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของตนเป็นจำนวน 40,000บาท ที่ตู้ ATM ข้างบ้านนายหนึ่ง และได้หลบหนีไป
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 55 นายหนึ่งยื่นคำฟ้องแพ่งเพื่อให้รื้อแนวกำแพงและให้นายอังคารจดทะเบียนภาระจำยอมให้นายหนึ่งได้ใช้ถนน และเรียกค่าเสียหายดังกล่าว พร้อมยื่นบัญชีระบุพยานและยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวไปในคราวเดียวกัน และได้แต่งตั้งท่านเป็นทนายยื่นฟ้องนายพฤหัส เมษาในคดีอาญาทุกข้อกล่าวหา ให้มีอำนาจจำหน่ายสิทธิและดำเนินคดีถึงที่สุด
คำสั่ง
1.คำฟ้องแพ่ง (ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย) 36 คะแนน
2.คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา 16 คะแนน
3.คำฟ้องอาญา 16 คะแนน
4.บัญชีพยาน 7 คะแนน
5.ใบแต่งทนายความ 5 คะแนน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงด เว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1401 ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น (มาตรา 425,426) ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 425 นายจ้าง (ตัวการ) ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้าง (ตัวแทน) ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง (ในกิจการที่ได้รับมอบหมาย)
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือ ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น
มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 269/7 ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตร อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
แนวคำตอบ
- ข้อหา : ภาระจำยอม, ทางจำเป็น, ละเมิด, เรียกค่าเสียหาย
- คู่ความ : นายหนึ่ง มกรา โจทก์ , นายอังคาร กุมภา จำเลยที่ 1, นายพุธ มีนา จำเลยที่ 2
- ค่าเสียหาย :
A1. ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางจำเป็นหรือภาระจำยอม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
A2. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนแทน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย
A3. จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์ในกิจการที่ได้รับมอบหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 คิดถึงวันฟ้อง (10 กุมภาพันธ์ 2555) เป็นเวลา 10 วัน คิดเป็นเงิน 100,000 บาท
A4. จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้คิดค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 10,000 บาทนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จสิ้น
B. ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง : คำสั่งระบุว่าไม่ต้องคิดดอกเบี้ย จึงไม่ต้องคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องในส่วนของค่าเสียหายรายวัน (A3)
C. คดีนี้มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ 2 ประเภทคือคำขอที่คำนวณเป็นจำนวนเงินไม่ได้และคำนวณเป็นจำนวนเงินได้จึงให้ถือตามคำขอหลักคือให้จดทะเบียนภาระจำยอมและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นคำขอที่คำนวณเป็นจำนวนเงินไม่ได้ คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
D. คำสั่งระบุว่าไม่ต้องคิดดอกเบี้ย จึงไม่ต้องคิดดอกเบี้ยหลังฟ้องในส่วนของค่าเสียหายรายวันทั้งก่อนฟ้อง(A3) และ หลังฟ้อง(A4)
********************************
ติวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ภาคทฤษฎี? ภาคปฏิบัติ และ ผู้ฝึกงาน 1 ปี (ตั๋วปี) กับ อ.เป้ สิททิกรณ์? โทร.086-987-5678? หรือดูรายละเอียดที่ www.SmartLawTutor.com