ข้อสอบตั๋วทนาย ภาคปฏิบัติ รุ่น 37

ข้อเท็จจริง

วันที่10 พ.ค. 2555 นางหนึ่ง มกรา มาพบนายชอบ ยุติธรรม ทนายความ โดยเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังว่า เมื่อปี 2535 นางหนึ่ง มกรา ได้จดทะเบียนสมรสกับนายเอก มกรา

หลังจากจดทะเบียน เมื่อประมาณวันที่ 15 มี.ค. 45 นางหนึ่ง มกรา และนายเอก มกรา ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ 11 เลขระวาง 1ย หน้าที่ดิน 123… จากการแนะนำของนายสอง กุมภา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนายเอก มกรา มาตั้งแต่ก่อนที่จะสมรสกับนางหนึ่ง มกรา โดยในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น ระบุให้นายเอก มกรา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เพียงผู้เดียว

ต่อมา ประมาณต้นปี 2555 นางหนึ่ง มกรา และนายเอก มกรา เริ่มมีปัญหากัน นางหนึ่งมกรา หาโฉนดที่ดินไม่พบ จึงจะไปแจ้งความ แต่นายเอก มกรา กลับไม่ยอมให้ไป นางหนึ่งมกราจึงไปสอบถามจากนายสอง มกรา แต่นายสอง มกรา ไม่ยอมบอกแต่นายสอง กุมภาดูมีพิรุธ และบอกให้ไปสอบถามนายเอก มกราเอง

นางหนึ่ง มกรา สงสัยว่าจะมีการทำนิติกรรมเกิดขึ้น จึงมาพบท่าน นายชอบ ยุติธรรม เพื่อมอบอำนาจให้ไปตรวจสอบการทำนิติกรรมที่ดิน

หลังจากที่ไปตรวจสอบพบว่ามีการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างนายเอก มกรา และ นายสอง กุมภาเมื่อวันที่ 10 ก.พ.54 มีกำหนดเวลา 3 ปี (ราคาประเมินที่ดิน 5,000,000 บ.) โดยนายเอก มกรา ได้แจ้งกับเจ้าพนักงานที่ดินให้จดข้อความลงในเอกสารว่าไม่เคยมีภริยา

ในวันที่ 25 พ.ค. 2555 นางหนึ่ง มกราจึงแต่งตั้งท่าน นายชอบ ยุติธรรม เป็นทนายความฟ้องคดีแพ่งต่อศาลเยวชนและครอบครัวกลางเพื่อรักษาสิทธิของตน และฟ้องคดีอาญาต่อศาลแขวง..ข้อหา..

คำสั่ง

1. หนังสือขอตรวจสอบนิติกรรมที่ดิน (12 คะแนน)

2. หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน ท.ด. 21 (5คะแนน)

3. คำฟ้องแพ่ง (36 คะแนน)

4. บัญชีพยาน (9คะแนน)

5. คำฟ้องอาญา (18คะแนน)

แนวคำตอบข้อคำฟ้องแพ่ง

  • ข้อหา : เพิกถอนนิติกรรม
  • คู่ความ
    – โจทก์ : นางหนึ่ง มกรา
    – จำเลย : นายเอก มกรา ที่ 1, นายสอง กุมภา ที่ 2
  • ค่าเสียหาย
    – ให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
    – ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์
    – ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1475 ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ใน มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ สามีหรือภริยา จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่ สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม นั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่า ตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่ วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

ฎ.10633/2551?โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และเมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

ข้อสังเกต

อ.เป้ สิททิกรณ์ ได้สอนหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่นำมาออกข้อสอบในข้อนี้ในคอร์สติวสอบใบอนุญาตทนายความ ภาคปฏิบัติ รุ่น 37 โดยเขียนอธิบายไว้ในชีทชุดคำฟ้องแพ่ง 22-24 ขอให้นักเรียนสอบผ่านเยอะๆนะครับ

แนวคำตอบข้ออื่น

– หนังสือขอตรวจสอบการทำนิติกรรมให้ทำกระดาษเปล่า F4
– หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน ท.ด.21 ใช้แบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินท.ด.21ที่กรรมการแจกมา (ไม่ใช่กระดาษเปล่า F4)
– บัญชีพยาน : ใช้แบบพิมพ์บัญชีพยาน หากไม่พอให้ต่อด้วยแบบพิมพ์บัญชีพยาน (ไม่ใช่กระดาษเปล่า F4 และ 40ก.)
– คำฟ้องอาญา : ใช้แบบพิมพ์คำฟ้อง,40ก.,คำขอท้ายฟ้องอาญา โดยให้นางหนึ่ง มกรา เป็นโจทก์ฟ้องนายเอก มกราเป็นจำเลย โดยอ้างว่านางหนึ่ง มกรา เป็นผู้ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจ ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฎ.8738/2552 จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137

เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง

**********************

Write a comment